วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น

หลังจากที่บูชาพระกรรมฐาน ขอขมาโทษ ตั้งจิตอธิษฐานเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มนั่งสมาธิ ท่าที่จะให้ได้ผลดีสุดคือ ท่านั่งสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวาวางอยู่บนมือซ้ายที่หน้าตัก หลับตาลงเบา ๆ นึกถึงพระพุทธรูปหรือดวงแก้วกลมใส อย่างหนึ่งอย่างใด ที่เราชอบใจ ซ้อนอยู่ในตัวเราเข้าไปข้างใน อยู่ที่ศูนย์กลางตัวเรา คือ ตรงระดับสะดือเหนือขึ้นมาเล็กน้อย

ต่อไปเราก็ทำใจให้หยุดให้นิ่ง หยุดคิดถึงเรื่องอื่นใด ปล่อยวางเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมด แต่ไม่ใช่คิดถึงความว่างเปล่า ไม่คิดเรื่องเงิน ไม่คิดเรื่องคนรัก ไม่คิดเรื่องกิจการงาน ทำเหมือนกับว่าไม่มีใคร ไม่มีอะไรอยู่รอบตัวเรา

นึกถึงดวงแก้ว หรือพระพุทธรูป อย่างที่บอกไว้ อยู่ในตัวเรา ทำความรู้สึกว่าเราเป็นดวงแก้วหรือเป็นพระพุทธรูป แล้วอยู่ที่ศูนย์กลางตัวเรา แล้วหยุดนิ่งไว้ ทำใจให้หยุด หยุดในหยุด นิ่งไว้ ปล่อยตัวตามสบาย ไม่ต้องเกร็ง ทำใจให้หยุดให้นิ่ง นานเท่านานเท่าที่จะทำได้

ถ้าเห็นดวงกลมใสแจ่ม หรือเห็นตัวเรา หรือเห็นพระพุทธรูป ก็ไม่ต้องตกใจ ทำความรู้สึกว่าเราเป็นเช่นนั้นที่เราเห็น หยุดนิ่งไว้ ผู้อ่านบางท่านสามารถทำใจสงบได้ง่ายและรวดเร็ว บางท่านอาจใช้เวลานาน เร็วหรือช้าต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เมื่อสงบจิตสงบใจได้ แสดงว่าท่านมาถูกทางแล้ว พยายามดำเนินตามที่แนะนำไว้ แล้วท่านจะพบความจริงแห่งชีวิต ที่ท่านไม่เคยรู้สึกหรือเห็นจากที่ใด ท่านรู้ด้วยตนเอง

หากท่านใดทำตามคำแนะนำแล้วได้ผลดี ต้องการรู้เพิ่มเติม โปรดส่งคำถามมายัง blog email เราจะตอบข้อสงสัยให้กับท่านเป็นรายบุคคลเป็นกรณีไป

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คำอธิษฐาน

เมื่อจะเริ่มฝึกสมาธิ เราต้องอธิษฐานรวบรวมบุญบารมีทั้งหลาย เพื่อให้เราประสบผลในการฝึก ดังนี้

ขอเดชคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆ์เจ้า
คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ (หญิงว่า คุณครูบาอาจารย์)
คุณมารดา บิดา
คุณทานบารมี ศีลบารมี
เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี
วิริยบารมี ขันติบารมี
สัจจบารมี อธิษฐานบารมี
เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี
ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย
ระลึกได้ก็ดี มิระลึกได้ก็ดีแต่ร้อยชาติพันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติก็ดี
ขอบุญบารมีทั้งหลายเหล่านั้นจงมาช่วยประคับประคองข้าพเจ้า
ให้ได้สำเร็จมรรคและผลในกาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด นิพพานปัจจโย โหตุ

หลังจากจบคำอธิษฐานแล้ว จึงได้ดำเนินการนั่งฝึกสมาธิต่อไป

คำขอขมาโทษ

ก่อนจะฝึกนั่งสมาธิ เราควรน้อมใจระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการกล่าวคำขอขมา ดังนี้

อุกาสะ อัจจะโยโน ภันเต
อัจจัคคะมา ยะถา พาเล
ยะถา มุฬเห
ยะถา อกุสะเล
เย มะยัง กะรัมหา
เอวัง ภันเต มะยัง
อัจจะโยโน ปะฏิคคัณหะถะ
อายะติง สังวะเรยยามิ

ข้าพระพุทธเจ้า ขอวโรกาส
ได้พลั้งพลาดด้วยกาย วาจา ใจ
ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เพียงไรแต่ข้าพระพุทธเจ้า
เป็นคนพาลคนหลงอกุศลเข้าสิงจิต
ให้กระทำความผิดต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ขอพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จงงดความผิดทั้งหลายเหล่านั้น
แก่ข้าพระพุทธเจ้าจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป
ข้าพระพุทธเจ้า จักขอสำรวมระวังซึ่งกาย วาจา ใจ
สืบต่อไปในเบื้องหน้า

เมื่อกล่าวจบแล้ว กาย วาจา ใจ ของเราก็บริสุทธิ์เพียงพอที่จะเริ่มฝึกสมาธิได้

วิธีบูชาพระ

ก่อนจะนั่งฝึกสมาธิ ให้ทุกท่านพึงตั้งใจจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วท่องคำบูชากรรมฐานดังนี้

ยะมะหัง สัมมาสัมพุทธัง
ภะคะวันตัง สะระณัง คะโต (หญิงว่า คะตา)
อิมินา สักกาเรนะ
ตัง ภะคะวันตัง อภิปูชะยามิ
ข้าพเจ้าบูชาบัดนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ซึ่งข้าพเจ้าถึง
ว่าเป็นที่พึ่ง กำจัดทุกข์ได้จริง ด้วยสักการะนี้

ยะมะหัง สะวากขาตัง
ภะคะวันตัง สะระณัง คะโต (หญิงว่า คะตา)
อิมินา สักกาเรนะ
ตัง ธัมมัง อภิปูชะยามิ
ข้าพเจ้าบูชาบัดนี้ ซึ่งพระธรรม
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
ซึ่งข้าพเจ้าถึงว่าเป็นที่พึ่ง กำจัดภัยได้จริง ด้วยสักการะนี้

ยะมะหัง สุปะฏิปันนัง
สังฆัง สะระณัง คะโต (หญิงว่า คะตา)
อิมินา สักกาเรนะ
ตัง สังฆัง อภิปูชะยามิ
ข้าพเจ้าบูชาบัดนี้ ซึ่งพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี
ซึ่งข้าพเจ้าถึงว่าเป็นที่พึ่ง
กำจัดโรคได้จริง ด้วยสักการะนี้
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา
พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สังฆัง นะมามิ (กราบ)

เมื่อบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว ใจของเราก็บริสุทธิ์พร้อมจะฝึกฝนสมาธิต่อไป

หลักการของสมาธิ

หลักการฝึกสมาธิ (สมถวิปัสสนากรรมฐาน)ทางพุทธศาสนามีวิชชา 2 อย่างคือ

1.สมถะ ความสงบระงับ เป็นวิชชาเบื้องต้น
2.วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง เป็นธรรมเบื้องสูง
สมถวิปัสสนา 2 อย่างนี้ เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกในทางพุทธศาสนา

สมถะมีภูมิ 40 ได้แก่
กสิณ 10
อสุภะ 10
อนุสติ 10
พรหมวิหาร 4
อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1
จตุธาตุววัตถาน 1
อรูปณาน 4

วิปัสสนามีภูมิ 6 ได้แก่
ขันธ์ 5
อายตนะ 12
ธาตุ 18
อินทรีย์ 22
อริยสัจ 4
ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12

หลักสมถวิปัสสนากรรมฐานข้างต้นนี้ จะได้อธิบายขยายความในคราวต่อไป

คติธรรม

ธรรมเป็นของเย็น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม อย่าใจร้อน อยากจะเห็นผลในทันทีเหมือนอย่างโทรทัศน์ เปิดปุ๊บติดปั๊บนั้นย่อมไม่ได้ ต้องให้โอกาสแก่ตนเองบ้างพอสมควร ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้นั่นแหล่ะ จะต้องรอเวลาให้เจริญเติบโต และผู้ปลูกจะต้องหมั่นดูแล รักษา ทำนุบำรุง เมื่อถึงเวลาก็จะผลิดอกออกผลเอง การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน บางรายก็อาจจะเห็นผลเร็ว บางรายก็อาจจะเห็นผลช้า เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติธรรมบรรลุผลเร็วหรือช้าต่างกัน

คติธรรม พระมงคลเทพมุนี
ขุดบ่อล่อธารา ให้อุตส่าห์ขุดร่ำไป
ขุดตื้นตื้นน้ำบ่มี ขุดถึงที่น้ำจึงไหล

เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำ จะเกิดมาทำอะไร
สิ่งที่อยากก็หลอก สิ่งที่หยอกเขาก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงใย
เลิกอยาก ลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป
เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้

นี้เป็นสุภาษิตที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาในการใช้ชีวิต ผู้อ่านทุกท่านควรจะนำไปใช้ดูนะค่ะ

เริ่มต้น

Web Blog นี้ จะนำเสนอวิธีการฝึกฝนสมาธิต่อผู้อ่านทุกท่าน เพื่อประโยชน์ดังนี้คือ

1.จิตใจสงบ มีสมาธิดีขึ้น ทำให้การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาใด ๆ สามารถทำได้ถูกต้อง ตรงประเด็นดีขึ้น
2.ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจลดลง ทำให้จิตใจมีความสงบเยือกเย็นดีขึ้น
3.มีสติสัมปชัญญะและปัญญา รู้ทางเจริญ ทางเสื่อม ได้ด้วยตนเอง
4.เมื่อสุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็พลอยดีด้วย ผู้ใกล้ชิดไม่ต้องเดือดร้อนเพราะเรา
5.กิเลส ตัณหา อันเป็นอกุศลธรรม เบาบางลง
6.การทำสมาธิโดยมีศีลเป็นบาท เป็นอานิสงส์รวบยอด เป็นทางมรรค ผล นิพพาน จึงเป็นมหากุศลแก่ผู้บำเพ็ญภาวนา เมื่อบุญกุศลเพิ่มขึ้น บาปอกุศลน้อยลง จนบุญนำหน้าบาป บุญกุศลย่อมให้ผลก่อนบาปอกุศล

ดังนั้น ผู้ฝึกฝนเป็นประจำจึงมีชีวิตที่ดีขึ้น เจริญรุ่งเรืองและสันติสุขทั้งในทางโลกและทางธรรมผลดีต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน ที่ศึกษาและเริ่มลงมือปฏิบัติ ฝึกฝนสมาธิอย่างถูกต้องแท้จริง วันเวลาไม่เคยคอยใคร เริ่มฝึกฝนนับแต่บัดนี้ ทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ดีกว่าปล่อยให้เวลาล่วงไป ๆ